การศึกษาชิ้นใหม่โดย วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย พบว่านักช้อปรุ่น Silver Gen กลายเป็นกลุ่มที่ถูกลืมและละเลย แต่พวกเขากำลังเบ่งบาน เป็นคนรุ่นที่มีใจเป็นอิสระ มีทั้งเงินและเวลามากที่สุด ตลาดของกลุ่ม Silver Gen กำลังเติบโตและเป็นโอกาสทางธุรกิจสำคัญของทุกๆ แบรนด์
ผลการศึกษาเรื่อง “นักช้อปที่ถูกลืม 2021” (Forgotten Shopper 2021) ในประเทศไทย โดย วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย พบว่าแบรนด์ นักการตลาด และผู้โฆษณา ต่างเฮโลกันสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z และมิลเลนเนียลกันอย่างมากมายในช่วงปีหลังๆ นี้ จนผู้บริโภครุ่นอายุก่อนหน้าอาจรู้สึกถูกมองข้ามหรือหมางเมิน แบรนด์ลืมไปแล้วว่าไม่ได้มีเพียงผู้บริโภครุ่น Gen Z และมิลเลนเนียลเท่านั้นที่มีเงินและศักยภาพในการใช้จ่าย ที่จริงแล้วคนรุ่นอาวุโสกำลังค้นหาความสุขในช่วงชีวิตวัยหนุ่มสาวของพวกเขาอีกครั้ง มีเวลาที่จะหาความสุขได้อย่างเต็มที่ และมีกำลังซื้อสูงไม่แพ้ผู้คนในรุ่นอายุน้อยกว่าอีกด้วย
กลุ่มประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยกำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สถานะสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2564 ประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นจนมีมากกว่า 11 ล้านคน หรือคิดเป็น 17% ของประชากรทั้งประเทศ การศึกษาจากหลายแหล่งได้เคยแตะประเด็นความท้าทายของการที่อายุของประชากรมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น แต่มีไม่กี่แหล่งเท่านั้นที่ได้สำรวจตรวจสอบอย่างแท้จริงจนถึงขั้นที่มองเห็นเซ็กเมนท์ซึ่งได้รับความใส่ใจน้อยที่สุด อย่างเช่นคนรุ่น50+ หรือ Silver Generation แบรนด์พากันพุ่งความสนใจอย่างมากมายไปที่คนในรุ่นอายุน้อยกว่า มุ่งตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของพวกเขาเป็นหลัก และมักจะมองข้ามชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่จริงแล้วกลุ่ม Silver Gen และกำลังซื้อของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากพวกเขากระตือรือร้นกับการเสาะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อีกทั้งภาวะของการสูงวัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเนื่องจากช่วงชีวิตของคนที่ยืนยาวยิ่งขึ้นและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ
Forgotten Shopper เป็นส่วนหนึ่งของ ฟิวเจอร์ ช้อปเปอร์ 2021 (Future Shopper 2021) การศึกษาชุดที่ 3 ในซีรีส์ Future Pulse Survey ของวันเดอร์แมน ธอมสัน ซึ่งเป็นการศึกษาตลาดธุรกิจพาณิชย์ทั่วโลก โดยวันเดอร์แมน ธอมสัน ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 28,000 คนในกลุ่ม Silver Gen อายุ 50 ปีขึ้นไปทั้งเพศชายและหญิงใน 17 ประเทศทั่วโลก และมุ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการวิเคราะห์และทำความเข้าใจกับอุปนิสัยในการจับจ่าย ความชื่นชอบ และพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ค้นหาคำตอบว่าพวกเขาปรับตัวเข้าหาช่องทางออนไลน์อย่างไรเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นในช่วงที่เกิดโรคระบาด และคิดว่าจะมีวิธีการจับจ่ายอย่างไรและที่ไหนในอนาคต ซึ่งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทั่วโลก Forgotten Shopper 2021 ในไทยได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคชาวไทยทั่วประเทศ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างในการทำสำรวจทั้งในเชิงปริมาณและการสัมภาษณ์เชิงลึกรวม 350 คนที่เป็นคนสัญชาติไทยอายุ 45 – 65 ปี แบ่งเป็นเพศชาย 50% และเพศหญิง 50%
“ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่านักช้อป Silver Gen เป็นคนรุ่นที่มีพลังขับเคลื่อนและมีอิทธิพลต่อตลาดสูงที่สุดรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว พวกเขามีผลต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกในปัจจุบันอย่างมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะได้รับความสนใจมากเทียบเท่ากับกลุ่มมิลเลนเนียลเสมอไป” มัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย กล่าว “ชาว Silver Gen เป็นกลุ่มที่แบรนด์ นักการตลาด และผู้โฆษณา มักจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและละเลยพวกเขาไป การศึกษาเรื่อง Forgotten Shopper 2021 ของไทยใน 4 แง่มุม คือ วิธีคิดและการรับรู้, ครอบครัวและชีวิตทางสังคม, สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี, ชีวิตเกษียณและการเงิน และ เทคโนโลยีและสื่อ จะช่วยให้แบรนด์ในประเทศไทยสามารถนำข้อมูลเชิงลึกอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับตลาดเมืองไทยเหล่านี้มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกลยุทธ์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ และวางแผนการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันออกไปตามรุ่นและกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน”
วิธีคิดและการรับรู้: หนุ่มๆ สาวๆ ที่รัก คนที่อายุเกิน 50 ไม่ได้เป็นมนุษย์ป้า-มนุษย์ลุงกันทุกคนหรอกนะ
ช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปถือว่าเป็นวัยผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะสูง ได้ผ่านเหตุการณ์ในช่วงชีวิตต่างๆ มามากมาย ตั้งแต่การสร้างครอบครัว การทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว และกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมจรรโลงสังคม พวกเขาได้ใช้เวลาครึ่งชีวิตเพื่อสร้างรากฐานและความมั่นคงให้กับลูกหลานของตน และในที่สุดก็ถึงเวลาที่จะมอบรางวัลให้ตัวเองสำหรับหยาดเหงื่อแรงงานที่ได้เคยทุ่มเทลงไป พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างสาแก่ใจ พาตนเองเดินหน้าสู่หลักชัยสำคัญต่างๆ และหลังจากทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความสำเร็จมานานหลายสิบปี วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะใช้ชีวิตให้ช้าลง พักผ่อน และมีความสุขกับชีวิต การที่พวกเขามีอายุมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่สนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่เปิดรับความคิดใหม่ๆ อีกต่อไป หรือจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการเลี้ยงดูหลานๆ และกลายเป็นคนไร้เหตุผลหรือมีข้อเรียกร้องต่างๆ มากมาย
สรุปประเด็นเรื่องวิธีคิดและการรับรู้ของคนกลุ่ม Silver Gen
- หัวใจยังมีไฟอยู่: ผู้อาวุโสอาจมีสภาพร่างกายที่ผ่านกาลเวลามานานกว่า แต่ความนึกคิดและจิตใจของพวกเขายังอยู่ในช่วงวัย 30 กว่าๆ เท่านั้น
- ใช้ชีวิตให้เต็มที่: ชาว Silver Gen มีเวลา มีเงิน และมีอิสระที่จะเข้าสังคมและใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้มากว่าคนรุ่นอื่นๆ ในปัจจุบัน!
- ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเปิดโลกทัศน์ของตนเองให้กว้างไกลยิ่งขึ้น: การที่ชาว Silver Gen เชื่อในวัฒนธรรมและประเพณีไม่ได้หมายความว่าพวกเขาล้าสมัยหรือตกเทรนด์ ผู้ใหญ่รุ่นอาวุโสอาจจะไม่กล้าได้กล้าเสียเท่ากับคนรุ่นอายุน้อยกว่าเนื่องจากมีโอกาสเกิดความสูญเสียในด้านต่างๆ ได้ แต่พวกเขายังคงมีความสนใจและชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และคอยติดตามเทรนด์ใหม่ๆ ในยุคสมัยปัจจุบันอยู่เสมอ
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงวัย แบรนด์จะต้องก้าวข้ามทัศนคติเหมารวมเกี่ยวกับผู้สูงอายุ พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์และโอกาสใหม่ๆ และพุ่งความสนใจไปที่ความต้องการและสิ่งที่เป็นความสนใจของผู้บริโภคอย่างเต็มที่ แทนที่จะคำนึงถึงอายุของพวกเขา
สิ่งที่แบรนด์ควรทำ
- การเติบโตของแบรนด์ไม่ได้มาจากคนรุ่นอายุน้อยๆ เท่านั้น
- การทำตลาดของแบรนด์ไม่ควรมุ่งไปที่คนรุ่นใดเพียงรุ่นเดียว การขับเคลื่อนการเติบโตผ่านการสร้างแบรนด์ในกลุ่มผู้บริโภคหลากหลายรุ่นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง กลุ่ม Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสามารถสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ได้เช่นกัน ซึ่งแบรนด์สามารถออกแบบวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วนเพื่อพวกเขาได้
- การสื่อสารและงานโฆษณาของแบรนด์ส่วนมากจะพุ่งเป้าไปที่คนรุ่นอายุน้อยกว่า และมักจะมองข้ามหรือละเลยกลุ่ม Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- แบรนด์ต้องตระหนักมากขึ้นว่าชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสามารถเริงร่ากับการใช้ชีวิตได้อย่างมีอิสระโดยไม่ต้องกังวลเรื่องลูก ครอบครัว หรือแรงกดดันและความเครียดเรื่องงาน
- ปรับมุมมองของแบรนด์ใหม่ มองชาว Silver Gen ว่า Young at Heart
- แบรนด์ต้องปรับเปลี่ยนการรับรู้เกี่ยวกับผู้สูงวัยเสียใหม่ มองเห็นพวกเขาเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังใช้ชีวิตอย่างเริงร่ากว่าที่เคย มีสิ่งที่คิดจะทำมากมาย และไม่แยแสว่าใครจะมองพวกเขาอย่างไร
- แบรนด์มีโอกาสเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงอย่างชาว Silver Gen ได้โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นตามความต้องการ ความสนใจ และเอื้อให้พวกเขาได้สนุกกับใช้ชีวิตและมีสุขภาพที่ดีต่อเนื่องต่อไป
- นอกจากนี้ แบรนด์ควรใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงให้คนรุ่น Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปได้เห็นด้วยว่าพวกเขาเป็นผู้บริโภคที่มีส่วนในการผลิต (Prosumer) และเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์ที่สร้างขึ้นโดยผู้ใช้งาน (User Generated Content – UGC)
- องค์ความรู้มากมายจากประสบการณ์ของชาว Silver Gen
- เปลี่ยนทัศนคติเหมารวมและสมมุติฐานในแง่ลบที่มีต่อผู้อาวุโสว่าพวกเขามีข้อเรียกร้องมากมายไร้เหตุผล และนำเสนอด้านอื่นๆ ที่เป็นพลังบวกของชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- ผู้ใหญ่วัยอาวุโสมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับผู้คนมากมายในสังคม
ครอบครัวและชีวิตทางสังคม: เราไม่เคยมองว่าการดูแลลูกๆ เป็นการลงทุน ที่จริงแล้วเรายังคงคอยเกื้อหนุนพวกเขาอยู่เสมอ
สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ครอบครัวถือเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตทางสังคม ผู้สูงวัยเป็นบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวชาวไทยซึ่งผู้ที่อ่อนวัยกว่าจะถือว่าพ่อแม่และผู้สูงวัยเป็นผู้มีพระคุณอย่างสูง และชาวไทยยังยึดถือธรรมเนียมว่าลูกจะต้องทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาแสดงให้เห็นว่าชาว Silver Gen ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปยังเป็นที่พึ่งพาและเป็นผู้ดูแลครอบครัว คนส่วนใหญ่ในรุ่นนี้ คิดเป็นสัดส่วน 75% ยังคงต้องทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวและช่วยเลี้ยงดูเด็กๆ และในหลายกรณี ผู้ที่มาจากชนบทจะเป็นผู้เลี้ยงดูหลานๆ ในขณะที่ลูกๆ ของพวกเขาที่เป็นผู้ใหญ่แล้วจะทำงานเต็มเวลาในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ซึ่งในกรณีเหล่านี้การศึกษาชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 44% ยังให้คงอุ้มชูครอบครัวในเรื่องเงินและยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
ชาว Silver Gen มีรายได้โดยเฉลี่ยเทียบเท่ากับค่าแรงต่อเดือนของประเทศไทย โดย 50% มีรายได้ 10,000 – 25,000 บาทต่อเดือน และรายได้ของพวกเขาไม่ได้สูงกว่าคนในรุ่นอื่นๆ แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ผู้อาวุโสส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เงินจุนเจือจากลูกๆ ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้พวกเขายังใช้ชีวิตที่สมดุลและมีเวลาอย่างเหลือเฟือ จากผู้ตอบแบบสอบถาม 83% ชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปยังคงเข้าสังคมอย่างกระตือรือร้นและติดต่อกับผู้อื่นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในขณะที่มีอายุมากขึ้น พวกเขาชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศและการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย
สรุปประเด็นเรื่องครอบครัวและชีวิตทางสังคมของคนกลุ่ม Silver Gen
- ธนาคารของครอบครัว: กล่าวโดยทั่วไป ชาว Silver Gen ยังคงเป็นผู้ลงทุนหลักอันดับ 1 ของครองครัว พวกเขายังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมอย่างสูงในการซื้อของลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นรถคันแรกหรือการช่วยออกเงินดาวน์เพื่อซื้อบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่วัยสูงอายุยังกลายเป็นผู้ช่วยกู้สถานการณ์ทางการเงินในยามฉุกเฉินอีกด้วย เช่นในกรณีที่ลูกๆ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเฉพาะหน้า เป็นต้น
- หนึ่งในผู้ตัดสินใจหลัก: การซื้อหลายๆ อย่างในบ้านยังคงอยู่ภายใต้การชี้นำหรือการตัดสินใจของผู้ใหญ่วัยสูงอายุ
- สัมผัสทางกายมีความสำคัญ: ชาว Silver Gen ให้ความสำคัญกับการสัมผัสทางกายและสื่อสารกับแบบพบหน้ามากกว่าการติดต่อแบบดิจิทัล อย่างไรก็ตาม มีพื้นที่ชุมชนจำนวนไม่มากนักที่สามารถตอบสนองความจำเป็น ความต้องการ และความปรารถนาของพวกเขา
สิ่งที่แบรนด์ควรทำ
- ชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปคือหนึ่งในผู้ตัดสินใจหลักและผู้ซื้อ
- ชาว Silver Gen ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้จุนเจือครอบครัวและดูแลภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใช้ประจำวันต่างๆ หรือการมีส่วนร่วมอย่างสูงกับการซื้ออื่นๆ ที่เป็นเงินก้อนใหญ่
- แบรนด์สามารถมีบทบาทในการช่วยเตรียมความพร้อมและร่วมวางแผนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทั้งในด้านสังคม สุขภาพ และการดำเนินชีวิต
- แบรนด์ควรศึกษาและประเมินผลกระทบของการเข้าถึงบริการทางสังคมต่างๆ ที่อาจช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยได้
- พลังขับเคลื่อนตลาดของกลุ่มคนวัย 50 ปีขึ้นไป
- ชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปคือผู้ซื้อคนสำคัญของครอบครัว ในขณะที่ผู้ใช้มักจะเป็นคนในรุ่นอายุน้อยกว่า
- แบรนด์จำเป็นต้องวางแผนการเสนอขายตลอดจนเส้นทางการซื้อของตน เพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายในรุ่นต่างๆ
- สร้างพื้นที่ชุมชนเพื่อชาว Silver Gen
- แบรนด์มีโอกาสที่จะจับมือกับพื้นที่ชุมชนต่างๆ ตลอดจนอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์ใหม่ๆ เพื่อให้บริการแก่ผู้คนในเซ็กเมนท์นี้
- อีกบทบาทหนึ่งที่แบรนด์สามารถทำได้คือ ส่งเสริมการก่อตั้งสมาคมหรือศูนย์ผู้สูงวัย เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและงานต่างๆ ณ ชุมชนในพื้นที่
สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี: ฉันไม่ต้องการดูเด็กเหมือนอายุ 25 แต่ฉันอยากเป็นผู้หญิงอายุ 56 ที่สวยสมวัย
การสูงวัยอย่างกระฉับกระเฉง (Active Aging) คือกระบวนการสร้างภาวะที่เหมาะสมที่สุดที่จะเอื้อให้เกิดโอกาสต่างๆ ในด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วม และความมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในขณะที่คนเรามีอายุเพิ่มมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าผู้สูงวัยใช้ชีวิตตามแนวทาง Active Aging เมื่อพวกเขาสนุกกับการรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงและความกระฉับกระเฉงของร่างกาย ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นและมีความสุขมากขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 79% ระบุว่าพวกเขาให้ความใส่ใจกับสุขภาพร่างกายมากกว่าสุขภาพจิต ซึ่งโดยทั่วไปชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปชอบเดินหรือจ๊อกกิ้งมากที่สุด ตามมาด้วยการปั่นจักรยานและการฝึกโยคะ สำหรับผู้สูงอายุแล้ว การประเมิน การตรวจคัดกรอง และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้แต่เนิ่นๆ สามารถป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบหากมีโรคภัยใดๆ แฝงอยู่ ถึงกระนั้นก็ตาม การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอยังคงไม่ใช่สิ่งที่คนในรุ่นนี้ถือปฏิบัติเป็นปกติ การศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 60% เข้ารับการตรวจสุขภาพเพียงปีละครั้งหรือเมื่อรู้สึกไม่สบายเท่านั้น ซึ่งปัญหาสุขภาพและโรคที่พบได้บ่อยและสร้างความกังวลให้คนรุ่นนี้มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง
แม้ว่าระบบภูมิคุ้มกันของคนเราจะอ่อนแอลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีวิธีการบางอย่างที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยย้อนเวลาให้กับระบบภูมิคุ้มกันได้ อาทิ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินเป็นประจำทุกวัน ดังนั้นผู้ตอบแบบสอบถาม 57% จึงรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกวัน โดยเหตุผล 3 อันดับแรกได้แก่ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อสุขภาพกระดูกที่ดี และเพื่อการชะลอวัย นอกจากนี้สุขภาพจิตยังเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การมีจิตใจที่สงบเย็นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และกิจกรรมที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ จะช่วยคงสุขภาวะทางจิตที่ดีเอาไว้ได้ ซึ่งภาวะทางจิตเช่นนี้มีความเชื่อมโยงกับศาสนาและงานอดิเรกโดยธรรมชาติ ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยพบว่า การเข้าวัดช่วยทำให้จิตใจของพวกเขาสงบได้มากที่สุดในขณะที่พวกเขาพยายามก้าวให้ทันโลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว
สรุปประเด็นเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนกลุ่ม Silver Gen
- อายุมากน้อยอยู่ที่ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง: ชาว Silver Gen ในวัย 50 ปีขึ้นไปยังคงรู้สึกว่าร่างกายและจิตใจสมบูรณ์แข็งแรงขึ้นกว่าที่เคย
- สร้างสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจอย่างสมดุล: การรักษาสมดุลที่ดีระหว่างสุขภาพร่างกายและจิตใจคือกุญแจสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งการได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และร่วมกิจกรรมยามว่างที่สนุกสนาน คือสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับผู้ใหญ่วัยสูงอายุ
- สุขภาพและความงามย้อนกลับไม่ได้: ชาว Silver Gen ไม่ได้อยากจะดูเด็กเสมอไป แต่กุญแจสำคัญคือต้องการรู้สึกอ่อนวัยและสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
- ปลูกสร้างการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี: การตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ และการป้องกัน คือกุญแจสำคัญในการเพาะเลี้ยงพลังชีวิตเพื่อสุขภาพและความมีชีวิตชีวาในระยะยาว ช่วยให้ผู้ใหญ่วัยสูงอายุทำในสิ่งที่ชื่นชอบต่อไปได้เรื่อยๆ
สิ่งที่แบรนด์ควรทำ
- สุขภาพร่างกาย
- สุขภาวะทางกายมีความสำคัญต่อผู้อาวุโสและผู้ใหญ่ที่เข้าสู่วัยสูงอายุ ดังนั้นแบรนด์จึงสามารถเจาะตลาดในเซ็กเมนต์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพได้ เช่น วิตามิน โรงพยาบาล ประกัน ฯลฯ
- แบรนด์ควรจะนำเสนอแง่มุมที่ว่า การดูแลร่างกายให้แข็งแรงและมีสุขภาวะที่ดี คือวิธีที่คนรุ่นอาวุโสจะสามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่มากยิ่งขึ้น แทนที่จะนำเสนอภาพของพวกเขาในฐานะคนที่ “แก่” และ “ต้องพึ่งพาผู้อื่น”
- สุขภาพจิตใจ
- แบรนด์ยังสามารถเจาะตลาดกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงทางจิตใจ เช่น เกมในรูปแบบแอปพลิเคชั่นง่ายๆ ซึ่งผสานทั้งผลิตภัณฑ์ เกมตอบคำถาม การเรียนรู้ เกร็ดความรู้ต่างๆ ฯลฯ ไว้ด้วยกัน หรือกิจกรรมทางดนตรีผ่านเพลย์ลิสต์เพลงจากวันวานทาง YouTube และ Spotify และกิจกรรมพบปะกันของชุมชนคนวัน 50 ปีขึ้นไป ซึ่งจะช่วยตอบสนองความจำเป็น ความต้องการ และความปรารถนาต่างๆ เพื่อสุขภาวะใจกายและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา
ชีวิตเกษียณและการเงิน: ชีวิตเกษียณไม่มีอยู่จริง มันคือการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการทำงาน
ชาว Silver Gen เชื่อว่าการที่พวกเขามีอายุมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าชีวิตของพวกเขาหรือสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่จะเปลี่ยนแปลงไปในทันที และค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ การรับรู้ และการให้ของพวกเขาก็เช่นกัน พวกเขายังเป็นคนคนเดิมเช่นเดียวกับที่เคยเป็นเมื่ออายุยังน้อยกว่านี้ พวกเขาจึงไม่เชื่อว่าชีวิตเกษียณมีอยู่จริง ชาว Silver Gen ส่วนใหญ่ คิดเป็น 71% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีชีวิตอยู่เพื่อทำงานและทำงานเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป และไม่ต้องการหรือมีการวางแผนเกษียณ ที่จริงแล้วบางคนไม่สามารถเกษียณได้เนื่องจากมีพันธะทางการเงินและยังจำเป็นต้องจุนเจือครอบครัว นี่คือสิ่งที่บอกเป็นนัยว่าคนที่เป็นหลักในการเลี้ยงดูครอบครัวมักจะเป็นผู้ใหญ่สูงวัยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเลยช่วงอายุที่หลายๆ แบรนด์วางให้เป็นกลุ่มเป้าหมายและมุ่งเน้นเป็นหลัก
แม้จะมีอายุล่วงเลยเข้าใกล้ช่วงวัยเกษียณ แต่ชาว Silver Gen ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปหลายๆ คนกลับไม่มีแผนการลงทุน ซึ่งอาจเป็นเพราะเงินส่วนที่น่าจะเป็นทุนสำหรับชีวิตเกษียณของพวกเขาบางส่วนมีการนำไปดูแลลูกๆ และสมาชิกในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม พวกเขารู้สึกค่อนข้างมั่นใจกับอนาคตของตนเองแม้ว่าจะไม่มีแผนการลงทุน เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองยังมีเวลาทำงานต่อไปอีกมากเพื่อเดินหน้าสร้างสิ่งที่ได้เริ่มเอาไว้แล้วและสร้างรายได้ต่อไป ดังนั้นจึงมีโอกาสทางธุรกิจมากมายให้แบรนด์สร้างการมีส่วนร่วมของชาว Silver Gen ได้ เพราะพวกเขายังคงทำงานอย่างแข็งขันและเป็นลูกค้าที่ทรงคุณค่า ในอีกด้าน ผู้ที่วางแผนการลงทุนเอาไว้แล้วจะซื้อสินทรัพย์แบบเดิมๆ เช่น ทองคำและอสังหาริมทรัพย์ ชาว Silver Gen ไม่สะดวกใจที่จะลงทุนในผลิตภัณฑ์และบริการที่จับต้องไม่ได้ พวกเขารู้สึกสบายใจกว่าที่จะใช้เงินของตนกับการลงทุนที่จับต้องได้ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง
สรุปประเด็นเรื่องชีวิตเกษียณและการเงินของคนกลุ่ม Silver Gen
- ชีวิตเกษียณไม่มีอยู่จริง: ชาว Silver Gen ไม่มีแผนสำหรับชีวิตวัยเกษียณและไม่สนใจจะเกษียณตัวเองก่อนกำหนด พวกเขาต้องการทำงานจุนเจือครอบครัวของพวกเขาและมีส่วนช่วยหารายได้เข้าบ้านต่อไป
- ชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปมีบทบาทสำคัญในครอบครัว: ในหลายๆ กรณี ผู้อาวุโสคือคนที่เป็นหลักในการหารายได้ของครอบครัว ดังนั้นพวกเขาจึงมีกำลังซื้อสูงและเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินใจหลักของครอบครัว
- ช่องว่างในการวางแผนการลงทุน: เป็นเรื่องน่าสนใจที่ชาว Silver Gen ส่วนใหญ่ไม่ได้มีแผนการลงทุนเตรียมพร้อมไว้แล้ว นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญของแบรนด์ด้านการเงินที่จะเจาะตลาดได้
- การลงทุนความเสี่ยงต่ำ: ชาว Silver Gen ชอบลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ทองคำและอสังหาริมทรัพย์ มากกว่าสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เนื่องจากมีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำแต่ว่ายังคงให้ผลตอบแทนได้สูง
สิ่งที่แบรนด์ควรทำ
- ประสิทธิภาพและแรงขับ
- แบรนด์มีโอกาสสำคัญในการตอบสนองความต้องการของชาว Silver Gen เนื่องจากพวกเขายังสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงและมีรายได้สูง
- แบรนด์อาจศึกษาโอกาสการเติบโตของเครื่องดื่มบำรุงสมอง เครื่องดื่มให้กำลังงานและเครื่องดื่มสำหรับการเล่นกีฬา แอปพลิเคชั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเซ็กเมนต์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
- แผนการลงทุนเพื่อ “ชีวิตที่เต็มที่ยิ่งขึ้น”
- เนื่องจากพวกเขาจะยังไม่เกษียณในเร็ววันนัก แบรนด์ด้านการเงินสามารถคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อกระตุ้นและเติมเติมความต้องการของชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปให้ใช้ชีวิตกินอยู่ดีและรักษาความกระปรี้กระเปร่าเอาไว้ เช่นการวางแผนการลงทุนเพื่อชีวิตที่สองและการมีเงินเก็บเพื่อเที่ยวรอบโลก เป็นต้น
- แบรนด์ด้านการเงินควรเสาะหาวิธีที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการของตนเองจับต้องได้มากขึ้น เช่น นำเสนอผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในทันที ซึ่งพวกเขาจะสามารถสัมผัสได้ แทนที่จะบอกเรื่องผลประโยชน์ที่พวกเขาจะได้ต่อไปในอนาคตอันไกลโพ้น
- ตลาดอสังหาริมทรัพย์สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นนี้ได้ด้วยเช่นกัน อาทิ การสร้างชุมชนเพื่อชาว Silver Age ที่ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง
เทคโนโลยีและสื่อ: สื่อออนไลน์มีไว้เพื่อไม่ให้ขาดการติดต่อและติดตามข่าวคราว แต่ฉันเชื่อสื่อดั้งเดิมมากกว่า
ชาว Silver Gen เปิดใจเรียนรู้และทดลองเทคโนโลยีและแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ๆ แต่ว่ายังมีอคติที่เป็นเสมือนกำแพงคือความไม่เชื่อถือ คนกลุ่ม Silver Gen ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่จะติดต่อกับเพื่อนๆ โดยใช้สมาร์ทโฟนและหาความบันเทิงจากการดูโทรทัศน์ พวกเขาใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงบริการต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น ช้อปปิ้งออนไลน์ กำหนดเวลาในการทำภาระหน้าที่ต่างๆ การศึกษา ฯลฯ แม้ว่าพวกเขาจะเริ่มเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ช้ากว่าคนรุ่นอื่นๆ แต่การใช้งานของพวกเขากำลังเพิ่มมากขึ้น และเทคโนโลยีกำลังกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของพวกเขา ชาว Silver Gen ผสานใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับกิจวัตรและพฤติกรรมที่มีอยู่แต่เดิมโดยที่ไม่ได้สร้างพฤติกรรมขึ้นใหม่ทั้งชุดเพื่อตามกระแสนิยมแต่อย่างใด
คนกลุ่ม Silver Gen ไม่หวังพึ่งพาหรือยังชีพด้วยสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียอย่างคนรุ่นอายุน้อยกว่าทำ พวกเขาเห็นโซเชียลมีเดียเป็นแหล่งความบันเทิง ไม่ใช่พื้นที่ในการไต่เต้าสถานะทางสังคม ยิ่งอายุมากขึ้น ชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปก็จะยิ่งใช้แพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียน้อยลง การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่าผู้บริโภคอายุ 45 – 60 ปีมีการเปิดรับและผสมผสานการใช้งานโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลทฟอร์มเป็นอย่างมาก แต่ผู้บริโภคอายุ 61 ปีขึ้นไปจะใช้เฟซบุ๊คเป็นแพลทฟอร์มหลัก
ในส่วนของพฤติการการซื้อและการบริโภคของผู้สูงวัยพบว่า ผู้บริโภคอายุ 45 – 65 ปีจะซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นความต้องการของพวกเขาเอง อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่าอัตราการเปิดรับแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่นๆ โดยสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญคือ สามารถคืนสินค้าได้ง่าย ชำระเงินปลายทางได้ และมีบริการส่งฟรี ซึ่งหากไม่มีบริการเหล่านี้ให้ก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะหันไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านช่องทางออฟไลน์มากกว่า นอกจากนี้การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคอายุ 65 ปีขึ้นไปมีสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวช่วยซื้อของบนแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้เนื่องจากอุปสรรคต่างๆ ที่พวกเขาประสบในการใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ ยิ่งไปกว่านั้น คนดัง KOL และเหล่าผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เป็นความสนใจคล้ายๆ กับพวกเขายังไม่มีอิทธิพลต่อชาว Silver Gen ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปมากนัก แต่สิ่งที่มีอิทธิพลต่อพวกเขามากกว่าคือการได้เห็นจากผู้คนที่มีปัญหาคล้ายๆ กับตนเอง จึงกล่าวได้ว่าความรู้สึกร่วมและประสบการณ์ของคนดัง KOL และผู้เชี่ยวชาญน่าจะมีอิทธิพลต่อพวกเขาได้มากกว่าชื่อเสียงของคนเหล่านี้และการที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน
สรุปประเด็นเรื่องเทคโนโลยีและสื่อของคนกลุ่ม Silver Gen
- กิจวัตรและพฤติกรรมที่มีอยู่เดิม
- ชาว Silver Gen มีกิจวัตรและพฤติกรรมเดิมอยู่แล้ว ซึ่งพวกเขาจะผสานใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียวกับกับกิจวัตรประจำวันของพวกเขา
- เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียไม่สามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้สร้างแบบแผนกิจวัตรและพฤติกรรมชุดใหม่ขึ้นแต่อย่างใด
- สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือเสริมให้กับชีวิตของพวกเขา
- ชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปมีความสุขกับการติดต่อเพื่อนฝูงและเสาะหาความบันเทิงจากอุปกรณ์และช่องทางโซเชียลมีเดียของพวกเขา
- นับวันจะถูกทิ้งห่างมากขึ้นเรื่อยๆ
- ในขณะที่เทคโนโลยีมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ฉลาดขึ้น ก้าวล้ำขึ้น และผสานตัวเข้าสู่ชีวิตประจำวันมากขึ้นนั้น ยิ่งนับวันชาว Silver Gen โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะยิ่งไล่ตามสิ่งเหล่านี้ไม่ทันกันมากขึ้นเรื่อยๆ
กลุ่มคน Silver Gen มักถูกเหมารวมว่าเป็นคนรุ่นผมหงอกที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ใช้ชีวิตนิ่งๆ อยู่กับที่ และกลัวเทคโนโลยี แบรนด์จึงต้องศึกษาตลาดและปรับตัวเข้าหาพฤติกรรมของคนรุ่นนี้ พร้อมกับปรับเปลี่ยนการรับรู้และกลยุทธ์ที่ใช้ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้
สิ่งที่แบรนด์ควรทำ
- เทคโนโลยีใหม่และการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX Design)
- ชาว Silver Gen ไม่เห็นว่าประโยชน์ของเทคโนโลยีใหม่มีความน่าสนใจแต่อย่างใด และคิดว่าเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและเรียนรู้
- แบรนด์ควรจะยึดมั่นในหลักการสำคัญของ UX ในการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ในเรื่องโฮมเพจ หน้าจอเริ่มต้น และปุ่มเปิด/ปิด เพื่อตอบสนองและสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ง่ายสำหรับคนรุ่นนี้
- การให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการใหม่
- ชาว Silver Gen ต้องการทำความเข้าใจว่าพวกเขาจะสามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ มาผสานเข้ากับพฤติกรรมและกิจวัตรเดิมของพวกเขาได้อย่างไร แบรนด์จะต้องผสานผลิตภัณฑ์ของตนเข้ากับพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ให้ได้ โดยไม่สร้างแบบแผนกิจวัตรและพฤติกรรมชุดใหม่ให้กับพวกเขา
- การตลาดผ่าน KOL
- แบรนด์อาจจะยังคงใช้ KOL เพื่อโปรโทมผลิตภัณฑ์ตามปกติในการเข้าหาผู้บริโภคกลุ่มนี้ แต่ KOL เหล่านี้จะต้องหยิบยกปัญหาที่มีเหมือนกับพวกเขา โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในกลุ่มอายุเดียวกันหรือเป็นคนดังแต่อย่างใด
10 ประเด็นเด่นจากผลการศึกษา
- เอ็นจอยกับปัจจุบัน ไม่อยากต้องทิ้งชีวิตแบบที่เป็นอยู่และมีความสุขกับมันต่อไป พวกเขาจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตในแบบที่เป็นอยู่ และมีความสุขกับมัน มากกว่าการขวนขวายหาเงินเพิ่ม หรือเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่
- ร่ำรวยเวลา เพราะพวกเขาไมได้ขัดสนเรื่องเวลา มีเวลาเหลือเฟือ จึงไม่ได้เน้นให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว รีบเร่งมากนักแต่กลับให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือและการที่สามารถคืนสินค้าได้ โดยเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่น่าสนใจมากกว่าด้านอื่นๆ
- ชื่นชมคนรุ่นอายุน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำตาม พวกเขาชื่นชมกับการที่คนรุ่นอายุน้อยกว่าเป็นแนวหน้ากล้าทดลองอะไรใหม่ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเลือกที่จะใช้ตามหรือทำตามเสมอไป
- สุขภาพดีเป็นเรื่องของร่างกาย สุขภาพสำหรับพวกเขาคือการคงความ “สมบูรณ์แข็งแรง” และสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ และการมีสุขภาพจิตและใจที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่ง เพื่อให้ไปถึงสุขภาพกายที่แข็งแรงด้วย
- ชีวิตเกษียณไม่มีอยู่จริง พวกเขาไม่เห็นว่าตนเองจะเกษียณ พวกเขายังต้องทำงานเนื่องจากมีภาระหน้าที่ทางการเงิน หรือไม่ก็เพื่อแก้เบื่อ
- ทุกอย่างต้องจับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวกับการลงทุน พวกเขาไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถสัมผัส มองเห็น หรือรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสพื้นฐานได้ หรือไม่คุ้นเคยกับมัน และให้ความสำคัญกับสิ่งที่จับต้องได้ในโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าในโลกดิจิทัล
- ผสานเทคโนโลยีใหม่เข้ากับกิจวัตรเดิมเพราะพฤติกรรมเก่าเปลี่ยนยาก ในการจับตลาดกลุ่มนี้ เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียใหม่จะต้องเข้ากันกับกิจวัตรที่คนรุ่นนี้มีอยู่เดิมด้วยจึงจะสามารถกระตุ้นอัตราการยอมรับหรือการเข้ามาใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ ของพวกเขาได้
- ตัดสินใจซื้อจากคนที่มีปัญหาเดียวกันไม่ใช่คนดัง ผู้ที่สามารถส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของพวกเขาคือผู้ที่มีปัญหาคล้ายๆ กันหรือมีความน่าเชื่อถือ โดยที่ไม่มีปัจจัยเรื่องอายุมาเกี่ยวข้อง
- 60+ เข้าไม่ถึงโซเชียล พบว่าการเปิดรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและบริการออนไลน์ต่างๆ มีอัตราลดลงอย่างมาก ในกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งที่เป็นกลุ่มที่สามามารถสร้างโอกาส และมีพลังทางการซื้อสูง
- พวกเขาต้องการมีพื้นที่ของพวกเขาเอง พวกเขาต้องการให้มีแบรนด์ ผลิตภัณฑ์และสถานที่ที่ได้รับการออกแบบและตอบสนองความต้องการของเขาโดยเฉพาะ พวกเขาไม่ต้องการให้แบรนด์ปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือน “ตัวแถม” หรือเป็นส่วนเกินในสังคม
7 สิ่งที่แบรนด์สามารถช่วยชาว Silver Gen ได้
- จัดผู้ใหญ่วัยอาวุโสเป็นผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มหลักในการศึกษาวิจัยผู้บริโภคของแบรนด์
- ใช้ข้อความที่สื่อสารครอบคลุมถึงพวกเขา แสดงให้เห็นว่าการสูงวัยขึ้นก็มีแง่มุมที่ดี
- แสดงราคาและค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
- มีการจำลองการใช้งานให้ผู้ใช้สูงวัยสามารถทดลองใช้ได้ในแบบออนไลน์
- ให้ความมั่นใจเรื่องการป้องกันการหลอกลวงและความปลอดภัยของข้อมูลตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการสัมผัสประสบการณ์กับแบรนด์
- มีเครื่องหมายช่วยบอกเส้นทางหรือขั้นตอนการใช้งาน ยิ่งสร้างประสบการณ์ที่ชัดเจนและง่ายได้มากเท่าไรยิ่งดี มิฉะนั้นผู้ใหญ่วัยอาวุโสอาจจะยอมแพ้เสียก่อนเนื่องจากไปต่อไม่ถูก
- มีพนักงานที่เป็นมนุษย์คอยให้ความช่วยเหลือผู้ใช้งานหากเกิดความผิดพลาดหรือติดขัดใดๆ ขึ้น พร้อมกับเสนอการฝึกอบรมการใช้งานอย่างครบถ้วนครอบคลุมทุกเนื้อหา การสอนวิธีใช้งานควรจะครอบคลุมสิ่งต่างๆ เช่น ปุ่มสำหรับไอคอนต่างๆ ในอินเตอร์เฟส เอกสารการสอน และวิธีการง่ายๆ ในการอัพเดทซอฟท์แวร์
“การช้อปปิ้งแห่งอนาคตในประเทศไทยได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วในช่วงปีหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 แบรนด์ต้องไม่มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ในขณะที่คนรุ่นนี้แก่ตัวลง พวกเขาก็จะมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย แบรนด์จะต้องคำนึงด้วยว่าคนทุกรุ่นมีความเชื่อมโยงกับแบรนด์ในแบบที่แตกต่างกันและมีวัตถุประสงค์ในการช้อปปิ้งที่แตกต่างกันออกไป จึงควรถอยกลับมาสักก้าวเพื่อพินิจพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในทุกแง่มุม ปรับเปลี่ยนโฟกัสให้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุ และวางแผนการดำเนินกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นที่สนใจของคนทุกกลุ่มอายุ” คุณมัวรีน กล่าวสรุป
วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เป็นเอเยนซีที่ให้บริการด้านความคิดสร้างสรรค์ ข้อมูล และเทคโนโลยี พร้อมด้วยขีดความสามารถทางด้านการวิจัยตลาดขั้นสูง จึงสามารถมอบบริการสนับสนุนโดยใช้ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคที่มีความสำคัญต่อลูกค้า บริษัทฯมุ่งเน้นให้บริการในฐานะเอเยนซีที่พร้อมรับมือกับอนาคตได้ดีที่สุดในประเทศไทย พร้อมเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีที่สุดของแบรนด์ด้วยบริการที่ครบถ้วนที่สุดในที่เดียว ทั้งด้านการสร้างประสบการณ์ลูกค้า, การออกแบบ, การสื่อสาร, CRM, คอมเมิร์ซ, การสร้างคอนเทนท์, กลยุทธ์ข้อมูล, การวิเคราะห์ข้อมูล, แคมเปญดิจิทัล, การตลาดเฉพาะบุคคล, ประชาสัมพันธ์, สื่อ, การบริหาร KOL และอินฟลูเอนเซอร์, ฝ่ายผลิต, โซเชียลมีเดีย, การออกแบบประสบการผู้ใช้งาน (UX) และอินเทอร์เฟสผู้ใช้งาน (UI) เป็นต้น