กระแสภาพยนตร์เรื่องนี้ สุดแสนจะดัง ตั้งแต่ยังไม่เข้าฉาย กวาดรายได้ทั้งจากยอดขายหนังสือปาเข้าไปกว่า 50 ล้านเล่ม ยอดจองตั๋วหนังก่อนเข้าฉายมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
รวมทั้งยิ่งดังเข้าไปใหญ่ในประเทศไทยจากกิจกรรม ชู 3 นิ้ว ทำให้โรงภาพยนตร์บางโรงต้องยกเลิกฉาย
สำหรับใครที่ไม่เคยรู้จัก หรือไม่เคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ขอแนะนำให้เข้าไปอ่านเรื่องย่อได้โดยคลิกที่ เกมล่าเกม
หลังจากทราบเรื่องราวแล้ว จะขอสรุปสาระสำคัญบทเรียนด้านการสื่อสารภาวะวิกฤตจากภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ 7 ข้อดังนี้
1. โฆษกองค์กร คือ ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ จะทำให้เรื่องดีขึ้นหรือเลวร้ายลง
Katniss Everdeen กลายเป็นฮีโร่จำเป็น หลังจากที่ได้อาสาไปแข่งขันในเกมแทนน้องสาว แม้ว่าใจจริงของเธอไม่ได้ต้องการจะเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติใดๆ ทว่าชาวพานัมต่างผูกพันและรับฟังเธอในฐานะโฆษกที่ยิ่งใหญ่ ตัวแทนแห่งพลเมืองพานัม
เช่นเดียวกัน ผู้บริโภคต่างแสวงหาหรือต้องการที่จะทำธุรกิจกับบุคคลหรือองค์กรที่เขารู้จัก ชื่นชอบและเชื่อมั่นศรัทธา ผู้บริโภคยินดีที่จะให้อภัยและเข้าใจผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์หรือการกระทำ ดังนั้น โฆษกองค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องมีความชัดเจน โปร่งใส ในทุกการกระทำที่เกิดขึ้น
2. ใช้ ความหวัง ในการสื่อสาร อย่าสร้าง ความหวาดกลัว
President Snow รู้ดีว่า การสร้างแต่ความหวาดกลัวเพียงอย่างเดียว จะไม่มีทางสำเร็จในการยึดกุมอำนาจ จึงเป็นเหตุให้เกิดการจัดแข่งขันในเกมขึ้น เพื่อสร้างพลังสัญลักษณ์แห่งความหวังให้เกิดขึ้นในแต่ละเขตเมืองปกครองต่างๆ
ความสำเร็จในการสื่อสารภาวะวิกฤต สามารถทำให้ความเสียหายลดน้อยลงได้ ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคอย่างต่อนื่อง แบ่งปันข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้น ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และเน้นการสื่อสารเชิงรุก หรือ ให้ข้อมูลก่อนที่นักข่าวหรือผู้บริโภคจะร้องขอ นั่นเอง
3. อย่าหักหลัง
“Katniss, เมื่อคุณอยู่ในการแข่งขัน จำไว้เสมอว่า ใครคือศัตรูที่แท้จริงของคุณ” –Haymitch Abernathy
การแอบซุกคู่แข่ง ลูกค้า พนักงาน นักข่าว ไว้ใต้พรม จะทำให้องค์กรคุณยิ่งอ่อนแอ ดังนั้น การมองกลุ่มคนเหล่านี้แบบโลกสวย จะช่วยคุณได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน คอยดูให้ดีว่าจะมีข้อมูลเชิงลบใดบ้างที่อาจจะเกิดขึ้น แล้วหาทางจัดการหรือแสวงหาคำตอบอย่างใจเย็น ก็จะช่วยองค์กรคุณได้ดี
เพราะศัตรูที่แท้จริงของคุณ คือ เหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ คู่แข่ง ลูกค้า พนักงาน หรือนักข่าว นะ
4. เลือกกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์
แต่ละเขตในภาพยนตร์ต่างหากลยุทธ์เพื่ออยู่รอด แต่คนที่ศึกษาสภาพแวดล้อมของศัตรูได้ดีที่สุด จะอยู่ได้นานที่สุด
เช่นเดียวกัน องค์กรควรจะดูสถานการณ์วิกฤต ณ ขณะนั้น ว่าควรจะใช้กลยุทธ์ใดก่อนที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก วิธีการง่ายๆ คือ จะต้องคอยตรวจสอบข่าว แนวโน้ม กระแส (News Monitoring) ความกังวลของผู้บริโภค เป็นต้น เพื่อให้นักสื่อสารจะได้หาหนทางในการจัดเตรียมและแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด
5. อย่าโกหก
เป็นธรรมชาติ เมื่อถึงภาวะวิกฤต การโกหก จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น กลยุทธ์นี้ไม่เคย Work เพราะการโกหก จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่ขาดฝันเพิ่มขึ้นอีก เมื่อเรื่องราวถูกขุดคุ้ยมากขึ้น จะทวีคูณความรุนแรง เกินกว่าที่จะแก้ไขได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อ Katniss ได้สร้างกระแสว่าตนเองรักกับ Peeta ทุกคนคงเห็นว่า เกิดอะไรขึ้นตามมา
6. จุดเล็กๆ ที่ดูเหมือนจะอ่อนแอที่สุดขององค์กร นั่นละ คือ ตัวตนขององค์กรที่แท้จริง
ดังคำกล่าวของ Katniss ที่ว่า เมื่อไฟไหม้ พวกเรา คุณนั่นละ จะไหม้ไปพร้อมกับเราด้วย “Fire is catching! And if we burn, you burn with us!”
หัวใจขององค์กรนั่นคือ พนักงานทุกคนตั้งแต่ระดับผู้ใต้บังคับบัญชา จนถึงผู้บริหารระดับสูง จงระวังไว้ให้ดี อย่าปล่อยให้เกิดวิกฤตใดๆ ขึ้นได้กับกลุ่มคนเหล่านี้ ทั้งนี้ พีอาร์ มีหน้าที่จะต้องคอยสอดส่องและดูแล จัดการสื่อสารก่อนปัญหาจะลุกลามใหญ่โต
7. ถ้าคุณจัดการมันได้ จึงเข้าไปเล่นกับไฟ หรือ อย่าเล่นกับไฟ หากคุณไม่อยากจะไหม้
แม้ว่า President Snow จะพยายามบอกและเตือน Katniss ถึงความจริงอันโหดร้ายของสงครามและผลที่จะตามมาจากการปฏิวัติ แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะจัดการกับ Katniss ได้ในที่สุด แต่กลับเกิดเหตุการณ์ตรงกันข้ามและร้ายแรงยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับองค์กร หากคุณไม่สามารถประเมินเหตุการณ์ที่ชัดเจนได้จากการกระทำขององค์กรว่า ทำอย่างนี้ แล้วผลจะเป็นอย่างไรในภาวะวิกฤต หรือ ทำแล้ว ผลที่จะเกิดสามารถเกิดขึ้นได้ในกี่ทิศทาง แต่ละทาง มีแนวทางจัดการได้อย่างไรบ้าง ฉะนั้น เมื่อเห็นแล้วว่า ทำแล้วจะเกิดไฟไหม้ขึ้น ก็อย่าทำจะดีกว่า เพราะหากลุกลามใหญ่โต แล้วจะจัดการยากยิ่งขึ้น